คณะพยาบาลศาสตร์ รับการตรวจประเมินจากกองบริหารงานวิจัย พร้อมด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพสู่ความสำเร็จโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม
วันที่ 9 ธันวาคม 2565 คณะพยาบาลศาสตร์ รับการตรวจประเมินจากกองบริหารงานวิจัย พร้อมด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพสู่ความสำเร็จโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม (MAI) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมศักดิ์ พินธะ และ ทันตแพทย์ดลธรรมพรหมเสน ติดตามความก้าวหน้าโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 (ชม ช่วย เชียร์) โครงการการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ข้าวกึ่งสำเร็จรูปน้ำจำ ซึ่งมี ผศ.ดร.พรรณพิมลสุขวงษ์ คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ดำเนินงานในพื้นที่ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ตำบลจำป่าหวาย เป็นชุมชนเกษตรกร รายได้หลักของประชาชนร้อยละ 80 มาจากการเกษตร ซึ่งได้แก่ ข้าว หอมแดงกระเทียมและฟักทอง ตำบลจำป่าหวายมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานสู่การแปรรูปเชิงนวัตกรรม (ข้าวน้ำจำ) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการทำนาแบบเดิม เป็นการทำนาแบบประณีตเชิงเกษตรอินทรีย์ การลดการใช้สารเคมีตามมาตรฐานGAP เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ เน้นหลักการทำน้อยแต่สามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้นโดยการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ การทำเกษตรผสมผสานและเน้นการขายผลผลิตให้กับผู้บริโภคโดยตรง ผลิตภัณฑ์ข้าวน้ำจำจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงเป็นข้าวอินทรีย์ (organic rice) ที่มีลักษณะอัตลักษณ์โดดเด่นเป็นข้าวหอมมะลิแท้ 100 % ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นข้าว GI ไม่มีการผสมข้าวชนิดอื่นได้รับใบรับรองเกษตรอินทรีย์ในกระบวนการผลิตจากแหล่งต้นน้ำ ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ปลอดสารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิตและในระหว่างการเก็บรักษาผลผลิตทำให้ได้ผลิตผลข้าวที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีสารต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) ช่วยลดโอกาสและป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคข้อ มีวิตามินโดยเฉพาะวิตามินบีป้องกันโรคเหน็บชา ช่วยการทำงานของระบบประสาท ป้องกันโรคปากนกกระจอก วิตามินเอช่วยบำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค นอกจากนี้ ข้าวอินทรีย์ยังอุดมไปด้วยเส้นใยไฟเบอร์ ช่วยให้ขับถ่ายสะดวกและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ จึงส่งผลให้ผู้บริโภคมีสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่า ในกระบวนการผลิต (การสีข้าว) ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะมีเมล็ดข้าวที่หักเป็นท่อนจำนวนมากซึ่งทุกเมล็ดเป็นข้าวที่ยังมีคุณภาพสูง แต่ขายได้ในราคาต่ำเพราะผู้บริโภคไม่นิยมรับประทาน ดังนั้น การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเมล็ดข้าวท่อนโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปจากข้าวหอมมะลิและข้าวต้มธัญพืช) จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มเพิ่มรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรและส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น